การรักหรือไม่รักการอ่านหนังสือคือความแตกต่างสำคัญที่ทำให้คนฉลาด หรือไม่ฉลาด ใฝ่การเรียนรู้ คิดอย่างมีเหตุผลแก้ไขปัญหา พัฒนาตนเองและประเทศได้ ดีหรือไม่ ประเทศที่คนรักการอ่านมากมักประสบความสำเร็จในการพัฒนาการศึกษาที่มีคุณภาพ และพัฒนาเศรษฐกิจสังคมได้มากกว่าประเทศที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยรักการอ่าน เช่น ประเทศไทย
เปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาทางเศรษฐกิจสังคม ได้มากกว่าไทย เช่น ยุโรป ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ฯลฯไทยทั้งผลิตหนังสือต่อปีได้ต่ำ สถิติการอ่านหนังสือ (ต่อหัวประชากรก็ต่ำ)และนักเรียนอายุ 15 ปีของไทย สอบอ่านเอาเรื่องภาษาแม่ได้คะแนนเฉลี่ยต่ำกว่านักเรียนวัยเดียวกันที่ทำแบบทดสอบเดียวกันแต่เป็นภาษาแม่ของนักเรียนแต่ละประเทศ ในการทดสอบตามโครงการ PISA ที่จัดโดยกลุ่ม OECD
ประเทศไทยลงทุนทางการศึกษามาก(เฉพาะงบรัฐบาลปีละ 4 แสนล้านบาท หรือ 25% ของงบทั้งหมด) แต่ล้มเหลวในด้านการจัดการศึกษาให้ทั่วถึงคุณภาพเด็กออกกลางคันมาก ครูอาจารย์คุณภาพปานกลางถึงต่ำ สอนและสอบแบบท่องจำตามตำราทั้งครู อาจารย์ และนักเรียน นักศึกษา ส่วนใหญ่ไม่รักการอ่าน อ่านจับใจความไม่เก่งคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ไม่ค่อยเป็น คนส่วนใหญ่ รวมทั้งผู้นำไม่รักการอ่านและขาดความรู้ในเชิงวิชาการที่จะแก้ไขปัญหาและพัฒนาประเทศ แข่งขันกับคนอื่นหรือแม้แต่รักษาสถานภาพตัวเองไม่ให้ตกต่ำกว่าประเทศอื่นลงไปเรื่อยๆ ได้
“จะคัดเลือกหนังสือดีและส่งเสริมให้เด็กไทยรักการอ่านได้อย่างไร”
คือการสำรวจอ่านและคัดเลือกหนังสือดีสำหรับเด็กและเยาวชนไทยตั้งแต่วัยแรกเกิดถึงวัย 18 ปีโดยเน้นงานที่คนไทยเขียนและจะสรุปผลให้เสร็จภายในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งถัดไปเดือนตุลาคม 2555
การคัดเลือกหนังสือดีเพื่อการพัฒนาคุณภาพเด็กและเยาวชนไทยของเราจะเน้นเรื่องบันเทิงคดี ประเภทการ์ตูน นิทาน นิยาย เรื่องสั้น บทกวีเนื่องจากเราตระหนักว่าหนังสือที่มีศิลปะวรรณกรรมที่ดีจะเป็นหนังสือที่เด็กอยากอ่านเพื่อความสนุก เพลิดเพลิน สนองจินตนาการความอยากรู้อยากเห็นของเด็ก ซึ่งเป็นบันไดขั้นต้นของการรักการอ่านหนังสือได้ดีกว่าหนังสือประเภทสารคดีหรือตำราเรียนแบบเก่าที่เน้นเนื้อหาสาระมากกว่าเพื่อความบันเทิง (ในต่างประเทศเขาทำตำราหนังสือสารคดีที่อ่านได้ง่ายสนุก เพิ่มขึ้นมาก)
สำหรับเกณฑ์คัดเลือกหนังสือดีเพื่อพัฒนาคุณภาพเด็กและเยาวชนไทยเราวางไว้ดังนี้ คือ
1. เป็นหนังสือเล่ม ประเภทเรื่องแต่งหรือบันเทิงคดี (นิทาน นิยาย การ์ตูนเรื่องสั้น บทกวี) ที่เขียนขึ้นโดยนักเขียนไทย ไม่จำกัดยุคสมัย
2. เป็นวรรณกรรมที่ดี คือ มีศิลปะในการเขียนที่ดี มีความงาม ความไพเราะความสะเทือนอารมณ์ อ่านได้สนุกเพลิดเพลิน มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์มีเนื้อหาสาระที่ส่งเสริมความเข้าใจชีวิตและสังคม เสริมสร้างภูมิปัญญา จินตนาการและค่านิยมที่ดี (ช่วยพัฒนาตนเองและอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคมได้อย่างสันติสุข)
3. มีเนื้อหา ท่วงทำนองภาพประกอบที่สามารถสนองความเข้าใจของนักอ่านกลุ่มเด็กและเยาวชนวัยต่างๆได้อย่างเหมาะสมกับวัย กระตุ้นจินตนาการและการเรียนรู้เกี่ยวกับชีวิตและโลกที่ผู้อ่านในวัยนั้นรู้สึกเชื่อมโยงด้วยมีลักษณะเป็นวรรณกรรมเด็กและเยาวชน เช่น ตัวละครและเรื่องราวเกี่ยวกับเด็กเยาวชนหรือสิ่งมีชีวิตอื่นที่เด็กเยาวชนรู้สึกเชื่อมโยงกับตัวเองได้ สั้น กระชับ ง่ายลำดับเรื่องดี มีเหตุการณ์ บทสนทนาที่เคลื่อนไหว มองโลกในแง่ดี มีคติสอนใจมีความสนุกเพลิดเพลิน เร้าใจ ชวนให้ติดตาม
4. มีเนื้อหาสาระที่ช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจชีวิตและสังคมวัฒนธรรมไทยและโลกทั้งในอดีตและปัจจุบันเพิ่มมากขึ้นและหรืออยากอ่านหนังสือวรรณกรรมที่ซับซ้อนเพิ่มขึ้นต่อไป
หวังว่าการคัดเลือกหนังสือดีเพื่อเด็กและเยาวชนเป็นทางหนึ่งที่จะช่วยกระตุ้นให้เด็กเยาวชนของเรารักการอ่านหนังสือเพิ่มขึ้น