ทักษะที่จำเป็นสำหรับบรรณารักษ์ยุคใหม่ในศตวรรษที่ 21 ถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเด็นใหญ่ๆ คือ
1. ประเด็นความสามารถหรือทักษะในระดับต้น (สายปฏิบัติ) แบ่งออกเป็น 5 ข้อย่อย คือ
- ความสามารถที่จะยอมรับความเปลี่ยนแปลง
- นำสื่อออนไลน์เข้ามาใช้เพื่อความสะดวกสบาย
- ความสามารถในการแก้ไขปัญหาด้านเทคโนโลยีแบบเบื้องต้น
- ความสามารถในการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยี
- ความสามารถในการรวบรวมไอเดียด้านเทคโนโลยีกับเครือข่ายห้องสมุด
สำหรับบรรณารักษ์ที่ปฏิบัติงานในระดับต้นส่วนใหญ่จะเน้นความสามารถในด้านการปฏิบัติเป็นหลัก ซึ่งโดยภาพรวมแล้วจะมุ่งเน้นไปสู่เรื่องของเทคโนโลยีมากขึ้น ซึ่งเทคโนโลยีเองก็มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วดังนั้นทักษะในเรื่องของการยอมรับความเปลี่ยนแปลงจึงสำคัญมาก อีกประเด็นคือการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อการทำงานตัวบรรณารักษ์เองก็จำเป็นต้องยึดหลักเรื่อง “รู้จัก – เข้าใจ – นำไปใช้” นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการดึงไอเดียหรือการหาไอเดียเพื่อการพัฒนางานบริการต่างๆ ซึ่งที่มาของไอเดียก็มาจากหลากหลายทาง ในที่นี่ขอเน้นเกี่ยวกับการทำงานกันเป็นเครือข่าย ความช่วยเหลือระหว่างวงการวิชาชีพก็มีความสำคัญมากเช่นกัน
2. ประเด็นความสามารถหรือทักษะในระดับสูง (สายการบริหาร) แบ่งออกเป็น 6 ข้อย่อย คือ
- ทักษะเรื่องการบริหารจัดการโครงการ
- ความสามารถในการตอบคำถามและการประเมินงานบริการห้องสมุด
- ความสามารถในการวิเคราะห์หาความต้องการของผู้ใช้บริการ
- วิสัยทัศน์ในการเปลี่ยนภาพลักษณ์ห้องสมุดแบบเดิมๆ ไปสู่การเป็นห้องสมุดที่ใช้สื่อออนไลน์
- ความสามารถในการหาจุดเปลี่ยนด้านเทคโนโลยีและเปรียบเทียบเทคโนโลยีด้านต่างๆ
- ความสามารถในการขายไอเดียห้องสมุด (นำเสนอห้องสมุด)
จะสังเกตได้ว่าทักษะและความสามารถของบรรณารักษ์ที่อยู่ในระดับสูง หรือสายงานบริหารจะต้องมีทักษะที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีเช่นกัน แต่คงไม่ต้องลงมาปฏิบัติเหมือนขั้นต้นแล้ว จุดสำคัญอยู่ที่การประเมินการใช้งานด้านเทคโนโลยีในห้องสมุด การเปรียบเทียบระบบแบบต่างๆ รวมถึงงานวิเคราะห์หาความต้องการของผู้ใช้ พูดง่ายๆ ว่าจะมีทั้งงานบริหารและงานวิชาการเข้ามาเกี่ยวข้อง นอกจากนั้นยังต้องมีความสามารถในเรื่องการนำเสนอหรือขายไอเดียห้องสมุดให้สาธารณชนได้รู้จักและเห็นคุณค่าของห้องสมุดด้วย
Librarian