1. หลักการและเหตุผล
ความท้าทายด้านการศึกษาในศตวรรษที่ 21 คือการเตรียมนักเรียนให้พร้อมกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบันที่องค์ความรู้และข้อมูลข่าวสารเกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอยู่ตลอดเวลา ซึ่งการรู้ที่ตัวเนื้อหาแต่เพียงอย่างเดียวจะไม่ใช่เป้าหมายสำคัญของการศึกษาอีกต่อไป แต่จะต้องก้าวข้ามจากการรู้ (Knowing) ในสาระวิชาไปสู่การเรียนรู้ (Learning) เพื่อพัฒนาทักษะต่าง ๆ ที่จำเป็น โดยผู้เรียนควรได้มีโอกาสค้นพบและสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง ตามแนวคิดของการจัดการศึกษาแบบ Constructivism ที่เชื่อว่าการเรียนรู้เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นภายในตัวบุคคล บุคคลเป็นผู้สร้างความรู้ด้วยตนเองจากการสัมพันธ์สิ่งที่พบเห็นกับความรู้ความเข้าใจที่บุคคลมีอยู่เดิม องค์ความรู้หรือกระบวนการเรียนรู้ที่ผู้เรียนได้รับจะมีคุณค่าและถาวรมากกว่าถ้าผู้เรียนเปลี่ยนจากการเรียนแบบรับ (passive learning) มาเป็นแบบรุก (active learning) ซึ่งครูจะต้องเปลี่ยนบทบาทจากผู้ถ่ายทอดเนื้อหาความรู้ให้นักเรียนอยู่เพียงฝ่ายเดียวไปเป็นผู้ออกแบบการเรียนรู้หรือทำหน้าที่เป็นโค้ช (Coach) และอำนวยความสะดวก (Facilitator) ให้นักเรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเอง การเรียนรู้โดยใช้การวิจัยเป็นฐาน (Research Based Learning) เป็นกระบวนการเรียนรู้หนึ่งที่นักเรียนจะได้เรียนรู้ด้วยตนเองในเชิงรุกโดยครูมีบทบาทเป็นผู้อำนวยความสะดวก ผู้เรียนได้ใช้กระบวนการวิจัยในการแสวงหาความรู้ เรียนรู้ทฤษฎี แนวคิด หลักการ รู้จักวิเคราะห์ปัญหา การวางแผนการแก้ปัญหา การเก็บรวบรวมข้อมูล สรุปผลข้อมูลและนำผลการวิจัยไปประยุกต์ใช้ ซึ่งกิจกรรมการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในระหว่างกระบวนการทำวิจัยนี้จะทำให้ผู้เรียนได้รับการพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตและการทำงานในศตวรรษที่ 21 เช่น ทักษะการคิด (Thinking Skills) ทักษะการแก้ปัญหา (Problem Solving and Resolution Skills) ทักษะการบริหารจัดการเวลา (Time Management Skills) ทักษะการสื่อสาร (Communication Skills) ทักษะประมวลผล (Computer Skills) และทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life Long Learning Skills) นอกจากนี้ผู้เรียนยังได้รับการพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ เช่น การเป็นผู้ใฝ่รู้ การเป็นผู้มีความสามารถในการแก้ปัญหาด้วยตนเอง และการเป็นผู้นำตนเองและผู้อื่น เป็นต้น ปัจจุบันนานาประเทศต่างยอมรับว่าดาราศาสตร์เป็นวิทยาศาสตร์สาขาหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังสามารถดึงดูดผู้คนทุกเพศ ทุกวัย ให้ชื่นชอบและหลงใหลในความสวยงามและความน่าอัศจรรย์
ดาราศาสตร์ไม่เพียงแต่มุ่งเน้นศึกษาทำความเข้าใจเอกภพเท่านั้น แต่ยังมาพร้อมกับความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอีกมากมาย ประโยชน์ของดาราศาสตร์ทางด้านการศึกษานอกจากจะทำให้เยาวชนมีความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาของดาราศาสตร์มากขึ้นแล้ว ยังสามารถดึงดูดเยาวชนให้มีความสนใจใฝ่รู้ เสริมสร้างจินตนาการ และมีกระบวนการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล ดังนั้น วิชาดาราศาสตร์จึงเป็นสาขาวิชาหนึ่งเหมาะสมในการนำมาจัดการเรียนรู้โดยใช้การวิจัยเป็นฐานได้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ในประเทศไทยในขณะนี้มีความพร้อมทางด้านการศึกษาด้านดาราศาสตร์เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากประเทศไทยมีสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ที่ก่อตั้งขึ้นมาโดยมีพันธกิจที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาด้านดาราศาสตร์ เช่น การบริการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านดาราศาสตร์ ส่งเสริม สนับสนุน และประสานความร่วมมือด้านดาราศาสตร์กับหน่วยงานอื่นของรัฐ สถาบันการศึกษาอื่นที่เกี่ยวข้อง และภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมไปถึงการสร้างและดูแลหอดูดาวแห่งชาติที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียนซึ่งติดตั้งอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ และหอดูดาวภูมิภาคที่จังหวัดนครราชสีมาและที่จังหวัดอื่น ๆ สำหรับไว้บริการนักเรียน นักศึกษาและประชาชนทั่วไป ซึ่งภายในหอดูดาวมีเครื่องมือที่สามารถใช้ในการเก็บข้อมูลทางดาราศาสตร์เพื่อให้นักเรียนหรือผู้ที่สนใจสามารถใช้ในการทำโครงงานหรือทำวิจัยทางดาราศาสตร์ได้ อีกทั้งสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติยังมีกล้องโทรทรรศน์ที่ควบคุมได้ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ระยะไกล (PROMPT Telescopes) ขนาด 0.6 เมตร ติดตั้งอยู่ที่เซอร์โร โทโลโล (Cerro Tololo) ประเทศชิลี ซึ่งการมีกล้องโทรทรรศน์ที่ติดตั้งอยู่ที่ต่างประเทศโดยสามารถควบคุมสั่งการจากประเทศไทยได้นี้จะยิ่งทำให้นักเรียนมีความสนใจในการค้นคว้ารวบรวมข้อมูลมากยิ่งขึ้น
ศูนย์สังเกตการณ์โลกและอวกาศเพื่อการเรียนรู้และกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ได้เล็งเห็นความสำคัญและประโยชน์ที่จะได้รับของการพัฒนานักเรียนให้เป็นผู้ที่สามารถเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านกระบวนการการเรียนรู้ที่ใช้การวิจัยเป็นฐานตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ประกอบกับมีนักเรียนโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยมกลุ่มหนึ่งที่มีความรู้ความสามารถในด้านดาราศาสตร์อยู่ในเกณฑ์ดีและมีความสนใจเป็นพิเศษในด้านดาราศาสตร์ ได้แก่ 1. นักเรียนที่ผ่านเข้ารอบต่างๆ ในโครงการดาราศาสตร์โอลิมปิก สอวน. 2. นักเรียนโครงการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ (ครีมดาราศาสตร์) หลักสูตร 1 และ หลักสูตร 2 จึงควรพัฒนานักเรียนที่มีศักยภาพสูงเหล่านี้ให้มีความลุ่มลึกทางวิชาการและมีทัศนคติต่อการศึกษาในด้านดาราศาสตร์ให้ดียิ่งๆขึ้นไปโดยใช้กระบวนการเรียนรู้โดยใช้การทำวิจัยเป็นฐาน และหากได้มีการเปิดโอกาสให้นักเรียนกลุ่มอื่น ๆ ที่มีความสนใจด้านดาราศาสตร์ ได้มีส่วนร่วมในการเรียนรู้ผ่านการทำวิจัยในครั้งนี้ด้วย จะยิ่งเป็นการขยายวงของความรู้และนับเป็นการสร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้แบบวิทยาศาสตร์ขึ้นภายในโรงเรียนให้มีความกว้างขวางมากขึ้น
กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และศูนย์สังเกตการณ์โลกและอวกาศเพื่อการเรียนรู้จึงมีความประสงค์ที่จะร่วมกันจัดกิจกรรมในลักษณะที่พัฒนานักเรียนโดยใช้กระบวนการทำวิจัยเป็นฐาน ภายใต้โครงการยุววิจัยดาราศาสตร์ ประจำปีการศึกษา 2558 โดยแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 : การอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อเพิ่มพูนความรู้ในการทำโครงงาน/การวิจัยทางดาราศาสตร์ ระหว่างวันที่ 28 เมษายน 2558 – 1 พฤษภาคม 2558 ณ โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม และระยะที่ 2 : การเก็บรวมรวมข้อมูลและการเตรียมความพร้อมสู่การนำเสนอ ระหว่างช่วงเดือนพฤษภาคม 2558 ถึงเดือนมีนาคม 2559 ณ หอดูดาวแห่งชาติ จังหวัดเชียงใหม่ หรือหอดูดาวภูมิภาคนครราชสีมาหรือหอดูดาวอื่น ๆ ที่มีความพร้อม และโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม และเมื่อนักเรียนได้ผ่านการเข้าร่วมกิจกรรมทั้ง 2 ระยะนี้แล้ว นักเรียนจะมีรูปเล่มรายงานผลการทำวิจัย/โครงงานด้านดาราศาสตร์เป็นของตัวเอง พร้อมสำหรับการนำเสนอในวาระต่าง ๆ เมื่อมีโอกาสต่อไป
2. วัตถุประสงค์
2.1 เพื่อเพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับการทำวิจัย/โครงงานด้านดาราศาสตร์ให้แก่นักเรียนผู้เข้าร่วมโครงการ
2.2 เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียนที่เข้าร่วมโครงการมีความคิดริเริ่มทำวิจัย/โครงงานด้านดาราศาสตร์